ศึกษาพฤติกรรมการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Honda PCX Electric หวังนำข้อมูลมาต่อยอดและพัฒนารถรุ่นใหม่ที่ตอบสนองทุกความต้องการของผู้ใช้งานในอนาคต
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด ได้ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในโครงการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้และระบบการจัดการเพื่อรองรับธุรกิจรถไฟฟ้า
มร.ชิเกโตะ คิมูระ ( Mr.Shigeto Kimura ) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำการศึกษาและสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานด้านต่างๆ จากการใช้งานจริงของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าฮอนด้า PCX Electric ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลมาต่อยอดในการออกแบบและพัฒนาผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และเตรียมการสำหรับ eco system เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและการใช้งานของผู้ใช้ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฮอนด้าได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะมีส่วนช่วยในการสร้างสังคมที่ปลอดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งในส่วนของรถจักรยานยนต์นั้น ฮอนด้าถือว่าเป็นผู้นำในความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยได้มีการพัฒนาในส่วนอัตราการประหยัดพลังงานของโมเดลที่ใช้แก๊สโซลีน ด้วยการใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ และเทคโนโลยีระบบหัวฉีดเชื้อเพลิง PGM-FI ก่อนผู้ผลิตรายอื่นๆ “
ขณะนี้ ฮอนด้ามีความคืบหน้ามากขึ้นในการพัฒนารถจักรยานยนต์ที่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในรุ่น PCX Hybrid และ PCX ELECTRIC โดยในรุ่น PCX Hybrid นั้นนับตั้งแต่เปิดตัวมาก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า ขณะที่รุ่น PCX ELECTRIC ก็ได้มีการเปิดตัวระหว่างงาน Bangkok International Motor Show 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ 3 นับตั้งแต่มีการเปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของโลก คือ CUV ES เมื่อ 25 ปีที่แล้ว
Honda PCX Electric มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “e-Comfort Saloon” มีจุดเด่นหลัก 3 จุด ได้แก่ Compact Electric System, Honda Mobile Power Pack, และ Exclusive Feature and Specification โดยการออกแบบรถรุ่นนี้ได้นำพื้นฐานจากฮอนด้า PCX มาพัฒนาใส่ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้อย่างสมบูรณ์และลงตัวมากที่สุด จึงถือได้ว่า Honda PCX Electric เป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ 3 ของฮอนด้า ที่ได้มาตรฐานสมบูรณ์แบบระดับโลกอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพื่อการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้จริง ทั้งในด้านการใช้งานรถ การชาร์จแบตเตอรี่ และระบบจัดการในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ นอกจากนี้ยังร่วมกับ HAUP ทดลองใช้แอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นมาสนับสนุนการใช้งานรถไฟฟ้า PCX electric ในโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี โดยการใช้งานของ PCX ELECTRIC ในแบบจักรยานยนต์ไฟฟ้า เช่น เรื่องระแบบแบตเตอรี่ที่สลับเปลี่ยนก้อนได้ , สมรรถนะในการขับขี่ , ระยะทาง ฯลฯ จะถูกนำมาใช้ให้เห็นจริงๆ ในมหาวิทยาลัย และเราจะพยายามที่จะใช้ประสบการณ์จากการใช้งานเหล่านี้เพื่อการนำไปพัฒนาให้ดีขึ้นในอนาคต
นอกจากนั้นแล้ว เรายังต้องการที่จะทดสอบความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วยการใช้ PCX ELECTRIC ในมหาวิทยาลัยด้วย โดยตอนนี้ก็กำลังมีศึกษาความร่วมมือกับ HAUP ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาแอพพลิเคชั่น และเปิดตัวโครงการนี้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ซึ่งถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญ เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นก้าวแรกสำหรับสังคมรถจักรยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ ทั้งนี้เราตระหนักถึงความต้องการทางการตลาดที่หลากหลายและห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อม ฮอนด้าในฐานะที่เป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ชั้นนำ จะจัดทำข้อเสนอที่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ในอนาคตเพื่อจะปูทางต่อไปในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมด้านนี้ มร.ชิเกโตะ คิมูระ กล่าวปิดท้าย
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะประธานคลัสเตอร์วิจัยด้านยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด ในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และยังได้เรียนรู้ถึงพฤติกรรมการใช้งานที่เหมาะสมในกรุงเทพมหานคร โดยใช้มหาวิทยาลัยเป็นกรณีศึกษา ดังนั้น โครงการศึกษาพฤติกรรมการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Honda PCX Electric จึงตอบโจทย์เป้าหมายของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลิตกำลังคนระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัย ยังให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งจะเห็นได้จากการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ “KMUTT: Sustainable University for Sustainable Development Goals (SDGs) 2030” ซึ่งมีเป้าหมายหนึ่งในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งภายในมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นการลดการปลดปล่อยมลพิษจากยานพาหนะทุกประเภทภายในมหาวิทยาลัย ดังนั้น โครงการนี้จึงถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย และชุมชนโดยรอบเป็นอย่างมาก ในการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งไม่มีการปลดปล่อยมลพิษและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศต่อไป