Honda CBR1000RR SP2 หมายเลข 21 รถแข่งของทีม HONDA Asia Dream Racing With Showa ที่คว้าชัยชนะอันดับ 3 ของเอเชียในรุ่น ASB1000 รุ่นใหญ่สุดของรายการ Asia Road Racing 2019 รายการการแข่งขันระดับเอเชีย ด้วยพละกำลังที่เป็นรองคู่แข่ง แต่ทำไมถึงชนะจนติด Top 3 ของเอเชีย ต้องดู
ASB1000 รุ่นที่เพิ่งถูกบรรจุเข้าในรายการแข่งขัน Asia Road Racing 2019 นี้เป็นปีแรก ใช้รถขนาด 1000 ซีซี ลงแข่งขัน และรุ่นนี้เป็นรุ่นใหญ่สุดของรายการ กติกาคือ ใน 1 สนามจะแข่งกัน 2 เรซ
ผมได้ไปทำข่าวรายการแข่งนี้ในสนามที่ 7 สนามสุดท้ายที่ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ (สนาม 1 มาเลเซีย, สนาม 2 ออสเตรเลีย, สนาม 3 ไทย, สนาม 4 ญี่ปุ่น, สนาม 5 จีน, สนาม 6 มาเลเซีย)
และในสนามที่ 7 ที่สนามช้างฯ Honda CBR1000RR SP1 ทีม HONDA Asia Dream Racing With Showa ที่ขี่โดย Zaqhwan Zaidi (ซัควาน ไซดี้) นักแข่งชาวมาเลเซีย ควอลิฟายมาอันดับ 1 ด้วยเวลา 1:35.714 นาที และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ในเรซที่ 1 แบบห่างๆ และเข้าเส้นชัยอันดับที่ 2 ในเรซที่ 2 …หลายคนเห็นเวลาแล้วเทียบกับ SB1 บ้านเรา คงบอกว่าก็น่าจะปกติในคลาสนี้ แต่ไปอ่านต่อครับว่ารถเขาทำอะไรบ้าง
รวมคะแนนสะสมในปี 2019 ทั้งหมดของรุ่นนี้ CBR1000RR SP2 หมายเลข 21 จบที่อันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรถฮอนด้าคันเดียวในรุ่นนี้ จากรถแข่งทั้งหมด 32 คัน และคะแนนทีมได้อันดับ 4 ด้วยนักแข่งคนเดียวและรถคันเดียว ต่างจากทีมอื่นที่มีรถแข่ง 2 คันและนักแข่ง 2 คน ผมถึงบอกไงว่าเร็วเป็นคันที่สุดในเอเชียจริงๆ
ถึงรถคันนี้จะเป็นของทีมแข่งมาเลเซีย แต่ที่สำคัญคือมี “แอ้น-สิทธิชัย กานิวาสน์” แมคคานิคชาวไทย สังกัด บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด “ร่วมโมฯ” และก็ไม่ได้แค่ร่วมปลุกปั้นรถในเกมส์เอเชีย โร้ด เรซซิ่งนี้เท่านั้น ในรายการ JSB1000 การแข่งขันในประเทศญี่ปุ่นก็ด้วย
รวมไปจนถึงรายการ Suzuka 8 Hours และล่าสุดรายการ 8 Hours of Sepang ที่ “ก้อง-สมเกียรติ์ จันทรา” นักแข่งไทยหนึ่งเดียวที่เข้าร่วมและคว้าอันดับ 2 มาได้ “แอ้น” แมคคานิคคนนี้ก็มีส่วนร่วมด้วยทั้งสิ้น ทุกรายการที่กล่าวมาใช้รถ CBR1000RR SP2 ทั้งสิ้น และเขาก็เป็นผู้ให้ข้อมูล(คร่าวๆ)ของรถแข่งระดับเอเชียคันนี้ให้แก่ผมนั่นเอง
การตกแต่งงรถคันนี้ก็จะอยู่ในกติกา ASB1000 ของรายการเอเชีย โร้ด เรซซิ่ง ซึ่งจะใช้เครื่องยนต์เดิมเป็นหลัก ไม่มีการปรับแต่งหรือเรียกว่า “รถสต็อค” ที่ปรับเปลี่ยนได้ก็จะมี กล่อง ECU ชุดสายไฟ ท่อ และช่วงล่างสามารถปรับเปลี่ยนได้เต็มที่ โดยที่โช้คอัพหน้าต้องคงสภาพภายนอกเดิมไว้แต่ใส้ในใส่ได้ไม่ยั้ง! ส่วนโช้คหลังยกเปลี่ยนได้เลยทั้งต้น
และทั้ง ECU ชุดสายไฟ และท่อไอเสียทั้งใบ ที่ว่ามานี้มาจาก HRC ที่ส่งมาให้ทีมได้เซ็ตลงแข่ง เพราะชุดคิททั้งชุดที่ว่านี่เป็นสเต็บแรกของ HRC เลยก็ว่าได้เพราะทาง HRC ยังไม่มีข้อมูลการแข่งมากนัก เพราะจัดขึ้นปีแรก กับเครื่องยนต์เดิมๆ กติกาที่เปิดให้ทำรถต่างจาก JSB1000
กติกาของ JSB1000 และในรายการ 8 Hours of Sepang ที่ผ่านมานั้นเหมือนกัน คือสามารถทำชุดฝาสูบได้ วาล์ว แคม สปริงวาล์ว ได้หมด ชุดคิทจาก HRC จึงมีรองรับอยู่แล้ว
และแน่นอนเครื่องยนต์ที่โมฯ แล้วในรายการ JSB1000 จะปั่นรอบได้สูงถึง 14,500 รอบ/นาที มากกว่าเครื่องยนต์ในรายการ ASB1000 ที่กติกาให้ใช้เครื่องยนต์เดิมๆแล้วแต่งตามที่บอก จะปั่นรอบได้ที่ 13,800 รอบ/นาที
ส่วนช่วงล่าง โช้คอัพหน้าสามารถทำใส้ในได้ทั้งหมด ซึ่งก็เป็นชุดแต่งจาก Showa และโช้คอัพหลังสามารถเปลี่ยนได้ทั้งต้น คาลิปเปอร์เบรกและล้อก็เป็นของเดิมติดรถเช่นกัน อ่อ! ทดสเตอร์ได้ด้วยนะ และในการแข่งสนามสุดท้าย ที่ สนามช้าง เรซที่ 1 รถคันนี้ก็นำคู่แข่งเข้าเส้นชัยอันดับ 1 แบบห่างพอสมควรเลยล่ะ อาการของรถนิ่งและมีความสมู้ทสูง แม้แต่ในโค้งที่เข้าและออกโค้งได้เร็วมาก
ถึงแม้ว่าตัวเลขแรงม้าจะเป็นรองคู่แข่ง แต่ที่ทำให้ประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มคือการเซ็ตที่ลงตัว กล่อง ECU จาก HRC มีผลมาก ช่วงล่างสมบูรณ์แบบ และการไล่สเตอร์ได้ลงตัว จนสามารถคว้าอันดับ 3 ในเอเชียมาครอง แม้จะพลาดไม่จบการแข่งขันไปถึง 2 เรซก็ตาม
ก็เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนเท่านั้นที่ผมเรียบเรียงมาให้อ่านกัน สุดท้าย “แอ้น” แมคคานิคคนเก่ง ก็กระซิบบอกผมว่า ปีหน้าทีมจะเปลี่ยนไปใช้รถ 2020 Honda CBR1000RR R-SP (ดับเบิ้ลอาร์ อาร์-เอสพี) โฉมใหม่ล่าสุดในการลงแข่ง ซึ่งก็เปลี่ยนใหม่ทั้งหมดต้องหาข้อมูลกันใหม่ รวมถึงตัว “แอ๊น” เองก็ต้องบินไปทำความรู้จักกับรถถึงญี่ปุ่นนู้นเลย แล้วมาติดตามกัน ว่าฤดูกาลหน้าจะได้ลุ้นแชมป์ไหม
Special Thank : แอ้น-สิทธิชัย กานิวาสน์ แห่ง บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด
รีวิวรถแข่งระดับตำนานในสนาม Suzuki ประเทศญี่ปุน คลิกเลย