ศึกรถไฟฟ้า Harley-Davidson Live Wire กับ Zero Motorcycle SR/F Premium

0

รถยนต์ไฟฟ้ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน ทุกค่ายมีแผนที่ผลิตออกสู่ตลาดอย่างแน่นอน และครั้งนี้เป็นการประกบกันระหว่างค่ายใหญ่เจ้าพ่อครุซเซอร์จากอเมริกา Harley-Davidson ที่มีรถไฟฟ้าในนาม Live Wire กับแบรนด์รถไฟฟ้า Performance สูงแบรนด์ Zero รุ่น SR/F Premium อะไรดี อะไรเด่นมาดู

ในส่วนของเทคโนโลยีที่คุ้นเคย

ทั้ง 2 ยี่ห้อ 2 รุ่น ขึ้นชื่อว่าเป็นรถไฟฟ้าแล้ว ระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยเหลือการขับขี่ก็ต้องมีติดตัวมาเป็นมาตรฐานไม่แพ้รถที่มีการสันดาปภายในแน่นอน โดยเทคโนโลยีจะทำงานโดย IMU อ่านค่าความเอียงต่างๆ ของรถแล้วส่งประมวลผล เหมือนรถปกติที่เราทราบกัน

ซึ่งแน่นอนเทคโนโลยีหรือระบบต่างๆ ก็จะคุ้ยเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็น Traction control ที่เลือกระดับได้, Cornering ABS, Riding Mode ที่มีให้เลือกคือ Sport, Street, Rain และ Eco โดยจะเป็นการตอบสนองที่คันเร่ง มีให้เลือกใช้กำลังขับสูงสุด และทั้ง 2 รุ่นก็มีเรือนไมล์แบบ TFT บอกข้อมูลครบถ้วน ที่เพิ่มมาคือบอกเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าเข้ามาด้วย อาทิ ข้อมูลการชาร์จไฟ  ปริมาณแบตเตอรี่

ขนาดของรถและลักษณะของรถแน่นอนว่าใหญ่กว่ารถไฟฟ้าทั่วๆ ไป ด้วยเพราะมีแบตเตอรี่ Lithium-ion ขนาดใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของตัวรถ ชุดไฟของทั้ง 2 คันอยู่ในกล่องอลูมิเนียมระบายความร้อนอย่างดี มีความแข็งแรงและดีไซน์สวย

เฟรมและขุมกำลัง

เฟรมของ Zero เป็น Tubular Steel-trellis ท่อเหล็กสานที่อุ้มแบตเตอรี่ Lithium-ion ขนาด 14.4 kWh Z-Force ไว้ ส่วน Harley-Davidson เป็นเฟรมอลูมิเนียมหล่อขึ้นรูปอุ้มแบตเตอรี่ขนาด 15.5 kWh Rechargeable Energy Storage System (RESS)

ทั้งคู่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์กระแสสลับแบบ Permanent-Magnet Brushless AC Motor การจัดวางของทั้ง 2 รุ่นต่างกัน Zero ใช้มอเตอร์รหัส ZF75-10 การระบายความร้อนเป็นแบบ Passive Air ติดตั้งในแนวนอนไปกับเฟรม การขับเคลื่อนขั้นสุดท้ายเป็น “พู่เล่” ที่หรือลูกรอกสายพานต่อกับเพลาขับโดยตรง

Harley-Davidson แบตเตอรี่ RESS ถูกจัดเรียงแบบแนวยาว มีระบบระบายความร้อนด้วยน้ำสวมทับอีกที การขับเคลื่อนเป็นสายพานในขั้นสุดท้าย เช่นเดียวกัน

พละกำลังที่ปลดปล่อย

มอเตอร์ของ LiveWire สามารถปั่นรอบได้มากกว่า 14,000 รอบ/นาที ในขณะที่มอเตอร์ของทางฝั่ง Zero SR/F Premium ปั่นรอบไปราวๆ 7,000 รอบ/นาที แต่ด้วยแรงม้าที่ผลิตในรอบสูง High-Rev กลับกันจะได้แรงบิดที่น้อยลง ถ้าเทียบกับรถที่มีแรงม้าเท่าๆ กันแต่มาในรอบที่ต่ำกว่า  

ดังนั้นเมื่อจับทั้งคู่ขึ้นไดโนเทสที่ความเร็ว 55 ไมล์/ชม. SR/F Premium จะผลิตแรงม้าที่ 80 ตัว และแรงบิด 120 ปอนด์ฟุต ที่ 3,500 รอบ/นาที ในขณะที่ LiveWire จะให้แรงม้า 91 ตัว แต่แรงบิดจะได้ 68 ปอนด์ฟุตที่ 7,000 รอบ/นาที มันต่างกันเหมือนกับเอารถเครื่องยนต์ V-Twin สูบโต กับ เครื่องยนต์ Inline 4 ที่มีสันดาบภายในคือใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปกติมาขึ้นไดโนนั่นล่ะ

น้ำหนักตัวทางด้าน SR/F Primium ที่หนัก 502 ปอนด์เป็นฝ่ายได้เปรียบ ในเรื่องของอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักตัวก็ด้วย เพราะทางฝั่ง LiveWire หนัก 544 ปอนด์ แม้จะชดเชยด้วยกำลังที่มากกว่าถึง 8% แต่เมื่อมาหักลบในอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักก็เพิ่มขึ้นไป 8.7% ด้วยเช่นกัน คือม้าเยอะกว่าแต่ก็แบกกว่านั่นแหล่ะ

ทดสอบระยะ 402 เมตร ควอเตอร์ไมล์

การทดสอบวัดจาก VBox GPS โดย LiveWire วิ่งก่อนและสร้างความประหลาดใจด้วยตัวเลข 11.54 วินาที กับความเร็ว 110.63 ไมล์/ชั่วโมง เป็นฝ่ายมองเห็น SR/F Premium ในกระจกหลัง เพราะฝ่ายหลังทำเวลาได้ 11.83 วินาที กับความเร็ว 116.2 ไมล์/ชั่วโมง การจัดการพลังในรอบที่สูงของ LiveWire ทำได้ดีได้เปรียบในเรื่องอัตราทดที่เปลี่ยนขึ้นเร็วและสั้นตามรอบที่สูงขึ้น

การใช้กำลังไฟและแบตเตอรี่

การเร่งแบบไร้รอยต่อ ความเงียบ ก็ยังเป็นจุดชีวัดสำคัญของรถไฟฟ้า รวมถึงการทดสอบพลังงานแบตเตอรี่แบบวนลูปซ้ำๆ กันก็ด้วย เพื่อดูการส่งจ่ายหรือใช้ไฟอย่างเป็นระบบ โดยทดสอบวิ่งในระยะทาง 48 ไมล์ เป็นทางวิ่งแบบผสมผสาน มีระยะทางฟรีเวย์ 18 ไมล์ ในเมืองที่มีทั้งวิ่งๆ หยุดๆ และทางนอกเมืองมีโค้งบนเขา วิ่งทดสอบในทุกโหดมขับขี่เหมือนกัน

LiveWire ใช้พลังงานไป 7.440 kWh ใช้แบตเตอรี่ไป 48% ของความจุแบตเตอรี่ทั้งหมด ส่วนทาง SR/F Premium ที่ใช้พลังงาน 8.208 kWh ไป 57% ต่อการวนลูปเส้นทางทดสอบ 1 รอบ

 มาดูสิ่งสำคัญอีกอย่างของรถไฟฟ้านั่นก็คือระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ กับการชาร์จจากไฟบ้าน 120V (อเมริกา) ทาง SR/F Premium ทำได้น้อยกว่า 9 ชั่วโมง ส่วนทาง LiveWire จะต้องใช้เวลาถึง 12 ชั่วโมง  แต่ทั้งนี้ทั้ง 2 รุ่นมีระบบชาร์จเร็ว แบ่งเป็น 3 Level

เมื่อใช้แท่นชาร์จที่มีกำลัง 6kWh ที่ Level 2 ทาง SR/F Premium จะใช้เวลาชาร์จ 1.5 ชั่วโมง กับไฟที่ได้ 75% และคาดว่าต้องชาร์จต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมงถึงจะเต็ม 100% ใน 1 ชม.หลังนี้จะช้าเพราะเป็นระบบยืดอายุแบตเตอรี่ของทาง Zero ส่วนทาง LiveWire กับแท่นชาร์จ Level 3 จาก 0 – 100% ใช้เวลาเพียง 58 นาที แต่เงื่อนไขคือ 4:1 คือต้องชาร์จใน Level 1 ปกติ 4 ครั้งก่อน ถึงจะใช้การชาร์จ Level 3 ได้เพียง 1 ครั้ง เพื่อเป็นการยืดอายุและลดความเครียดของแบตเตอรี่

ทั้ง 2 รุ่นมาพร้อมกับช่วงล่างแบบจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็นช็อคอัพที่ปรับได้เต็มรูปแบบ คาลิเปอร์เบรก 4 ลูกสูบแบบเรเดียลเม้าส์   ยางติดรถสปอร์ตเรเดียล

งานประกอบของ SR/F Premium ทำได้ไม่ค่อยน่าประทับใจนัก การทำสีไม่เนียนนักโดยเฉพาะตามขอบถังรอยต่อต่างๆ เมื่อเทียบกับ LiveWire ที่มีความประณีตกว่าอย่างชัดเจน พักเท้าของ SR/F Premium ก็เป็นชุดเดียวกับ Aprilia Shiver ที่ผลิตในจีน ในขณะที่ทาง LiveWire มีใช้ชิ้นส่วนจาก Harley รุ่นใหญ่สุดพรีเมี่ยม

สวิทซ์แฮนด์หรือจอยสติ๊กสั่งงานระบบต่างๆ แสดงผลบนเรือนไมล์ ที่รวมถึงการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน การสั่งงานต่างๆ การฟังเพลง เช่นเดียวกับระบบช่วยนำทางหรือ Navigation

การทดสอบเมื่อต้องเจอทางโค้งสลับซับซ้อน LiveWire แม่นยำ มั่นใจ ทำได้ดีกว่า SR/F Premium ซึ่งฝ่ายหลังนี่จะมีอาการเหมือนไม่ยึดเกาะหรือไม่ทำให้ผู้ขี่มั่นใจเมื่อเจอความไม่เรียบบนเส้นทาง แต่ด้วยแฮนด์บาร์ที่กว้างก็พอจะช่วยให้ความรู้สึกดีขึ้นได้

การขี่และเร่งความเร็ว LiveWire ทำได้ดีมาก ให้ความรู้สึกที่ดีต่อข้อมือขวาที่ใช้คันเร่งด้วย ขณะเดียวกันยังจัดการเรื่องกำลังเมื่อปิดคันเร่งก็ทำได้ดี เหมือนมี Engine Brake และมือเบรกจนถึงระบบเบรกยังเป็นแบบเดียวกับรถ Harley รุ่นใหญ่หลายๆ รุ่น

ในส่วนของ SR/F Premium เด่นในเรื่องความคล่องตัว ด้วยน้ำหนักที่เบาและแรงบิดที่ดีในรอบต่ำ และเมื่อจะออกจากโค้งในโหมด Sport ยังให้อารมณ์เหมือนรถ 2 จังหวะ เร็วและพุง

เอาเป็นว่าบททดสอบและความเห็นของนักทดสอบ Cycle World ผมนำมาให้อ่านกันคร่าวๆ ก่อนดีกว่า เพราะทั้ง 2 รุ่นยังไม่มีแผนจะขายในเมืองไทยเร็วๆ นี้ กว่าจะถึงวันนั้นคงพัฒนาต่อกันไปอีกขั้น สำหรับราคา Zero SR/F Premium อยู่ที่ 21,495 เหรียญสหรัฐ และ Harley-Davidson LiveWire อยู่ที่ 30,149 เหรียญสหรัฐ

Cr: Cycleworld  

10 ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทันสมัยในฮาเล่ย์-เดวิดสัน คลิก
คลิป ทดสอบ รีวิว คลิก

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่