“เก๋าว่ะ” ชื่อคอนเทนต์ใหม่ แต่เรื่องราวรถเก่าๆ ที่ผมเองเห็นว่ามีหลายคนสนใจและชอบอยู่ไม่น้อย เป็นรถในช่วงต้นปี 90 ช่วงที่ผมเองก็เพิ่งเริ่มขี่รถใหญ่ ก็เลยจะเอารถในช่วงยุคนั้นๆ ที่ถือเป็นยุคสุดพีคของรถ Bigbike ในไทย มาให้อ่านกันเรื่อยๆ เริ่มจาก Honda CBR400RR(NC29) และ Honda VFR400R(NC30) กันก่อนเลย
Honda CBR400RR หรือรหัสเฟรม NC29 และ Honda VFR400R รหัส NC30 เป็นรถสปอร์ตเรพริก้า คือรถสปอร์ตที่จำลองรถแข่งออกมาขาย แต่ปรับให้เหมาะกับการใช้งานทั่วไป ออฟชั่นติดรถและฟีลลิ่งก็จะต่างยี่ห้อต่างรุ่นกันไป ซึ่ง 2 รุ่นที่ถือว่าเป็นรถที่นิยมที่สุดทั่วโลกในช่วงนั้น รวมถึงในไทยก็ต้องยกให้ 2 รุ่นนี้เลยล่ะครับ
Honda CBR400RR NC29
มีสายการผลิตในช่วงปี 1989 – 1999 จริงๆ ผมเองก็เข้าใจว่าน่าจะหยุดสายการผลิตตั้งแต่ประมาณปี 97 หรือ 98 นะ แต่ที่ญี่ปุ่นเขายังผลิตและขายอยู่จนถึงปี 99 เลย น่าจะเหมือน CB1300SF ที่ยังผลิตและขายเฉพาะในญี่ปุ่นอย่างเดียวในทุกวันนี้ แต่ CBR400RR หยุดสายการผลิตไปตั้งแต่ปี 99 ตามที่บอกนั่นล่ะคับ
Honda CBR400RR ด้วยชื่อรุ่นก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเครื่องยนต์ 4 จังหวะ 4 สูบเรียง ในช่วงเวลานั้นชื่อรุ่นก็สามารถแยกประเภทเครื่องยนต์ไปในตัวได้เลย เช่น CBR = 4 สูบเรียง, VFR = V4, NSR 2 จังหวะ ฯ และนี่ก็คือเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ CBR400RR
ด้วยความที่เป็นเครื่องยนต์แบบ 4 สูบเรียง เสียงที่แผดออกมาจากปลายท่อไอเสียจึงหวานเป็นเอกลักษณ์ ยิ่งได้ท่อสูตรตรงรุ่นแบรนด์จากแดนปลาดิบเข้าไปด้วยนะ “เคลิ้มเลย” แถมวิ่งกว่าเดิมอีกด้วยหลายคนหลงเสน่ห์ CBR ก็ตรงนี้
ในยุคที่ซื้อหากันที่ไทยการดูปีรถ นอกจากสีเดิมที่มาตัวรถ ก็จะดูที่เลขคอซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่คำชำนาญแล้วล่ะครับผมเองก็จำไม่ได้ เช่น NC29-100xxxx, NC29-105xxxx หรือ NC29-110xxxx เป็นต้น
ชิ้นส่วนอื่นที่ติดรถมาจากโรงงานญี่ปุ่น มาตรฐานสูงดูดีทั้งคัน เฟรมอลูมิเนียมแบบ TwinTube Frame เป็นเอกลักษณ์ของรุ่น คือเฟรมจะโอบเครื่องยนต์และเว้าหักขึ้นมา เป็นส่วนรับน้ำหนักผู้ขี่และเชื่อมต่อโช้คอัพหลังและซับเฟรม
เฟรมยังมีความพิเศษคือตรงช่วงขาหนีบผู้ขับขี่จะแคบร่วมกับความสูงเบาะนั่งที่ 750 มม. ทำให้คนขาสั้นก็สามารถวางเท้าบนพื้นได้สบายๆ มีป้ายเทคโนโลยี L.C.G ติดข้างเฟรม ซึ่งผมว่าน่าจะย่อมาจาก Low Center of Gravity คือเป็นเฟรมที่ศูนย์ถ่วงต่ำ
มีการดีไซน์ชุดแรมแอร์ในชื่อ Direct Air Intake จากแฟริ่งหน้ามาแปะตรงแฟรมที่เว้าเห็นคาร์บูเรเตอร์พอดี แต่ผมว่าเป็นแรมแอร์หลอกๆ อ่ะครับ เพราะตัว Air Box จะอยู่ใต้ถังน้ำมัน ไม่ได้เกี่ยวกับท่อแรมแอร์นี่เลย – -“
สวิงอาร์มที่มีชื่อเฉพาะหรือมีเทคโนโลยี Castec Gull Arm แขนอาร์มด้านขวาจะยกหลบท่อไอเสียอย่างเฟี้ยว และชื่อ Gull Arm ก็เป็นอีกหนึ่งในเอกลักษณ์ของรุ่นด้วยเช่นกัน
เครื่องยนต์ 4 จังหวะ 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยน้ำ เกียร์ 6 สปีด ให้กำลัง 59 แรงม้าที่ 13,000 รอบ/นาที แรงบิด 39 นิวตันเมตรที่ 10,000 รอบ/นาที สำหรับปี 90-93 และปรับลงมาเหลือ 53 แรงม้ากับแรงบิด 35 นิวตันเมตรตั้งแต่ปี 94 ด้วยกฎข้อบังคับการผลิตที่ออกมาใหม่ของประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งปีที่ปรับลดแรงม้าระหว่างปี 93 กับปี 94 ผมเลยดูจากการเปลี่ยนโมเดลของรุ่น VFR400R เป็น RVF400 ในปี 94 ซะเลย ถ้าคลาดเคลื่อนอันนี้ผมก็ขออภัย
เครื่องยนต์จะเป็น Cam Gear Train คือใช้เฟืองราวลิ้นในการขับแคมชาร์ฟ ไม่ใช่โซ่ราวลิ้น ข้อดีก็คงเป็นเรื่องของความสมู้ทและเงียบที่น่าจะทำได้ดีกว่าแบบโซ่ราวลิ้น ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ยุคนั้นไม่ต้องพูดถึงครับเพราะ “ไม่มี” ฮ่า
โช้คอัพหน้าเทเลสโคปิกขนาด 41 มม. ปรับ Spring Pre-load และ Rebound Damping ได้ด้วยนะ โช้คหลังเดี่ยวก็ปรับ ได้แบบเดียวกับโช้คหน้า ดิสก์เบรกหน้าคู่ คาลิเปอร์ข้างละ 2 ลูกสูบ ดิสก์เบรกหลังเดี่ยวคาลิเปอร์สูบเดียว อยู่!
ล้อแม็กแบบ 6 ก้าน ล้อหน้ากว้าง 3.5 นิ้ว ยางขนาด 120/60-17 ล้อหลังขนาด 4.5 นิ้ว ยางขนาด 150/60-17
ความนิยมนอกจากความลงตัวที่ว่ามา ก็คือดีไซน์ ไฟหน้าคู่ทรงกลมมีกรอบครอบอีกที นี่ก็เอกลักษณ์เพราะมีรุ่นเดียวที่เป็นแบบนี้ ไฟท้ายทางกลมคู่เหมือนกับโฉมก่อนหน้า(NC23) แต่โฉบเฉี่ยวกว่าด้วยแฟริ่งท้ายดีไซน์ใหม่ คือจะแหลมยื่นออกไปด้านท้ายรถ สวยต่างจากโฉมก่อนหน้าชัดเจน
ความแปลกไม่เหมือนใครอีกอย่างคือพักเท้าคนซ้อน ที่สามารถพับเก็บหลบใต้แฟริ่งท้ายได้มิดชิด คือยุคนั้นถ้าจะแต่งหล่อ แต่งสไตล์สนามท้ายต้องโล่งๆ ก็ต้องถอดที่พักเท้าหลังออก แต่สำหรับ CBR400RR สบายครับไม่ต้องถอด จะใช้งานก็แค่บีบและดึงออกมาแค่นั้น … ก็สั้นๆ กับ Honda CBR400RR แค่นี้ก่อน ไปต่อกับรุ่นยอดนิยมที่มาคู่กันอีกรุ่นเลย
Honda VFR400R NC30
VFR400R NC30 ผลิตขายในช่วงปี 1989-1993 ก่อนจะพัฒนาต่อเป็นโมเดลใหม่ในชื่อ RVF400 NC35 ออกขายในปี 1994 – 1998 ทั้ง NC30 และ NC35 มีดีไซน์คล้ายๆ กันก็จริง ซึ่งอะไหล่ทุกส่วนของรถคือคนละตัวกันเลย แต่สามารถใช้แทนกันได้ แปลกไหม
NC30 ได้แรงบันดานใจในการออกแบบจากรถแข่งคือ VFR750R หรือ RC30 แชมป์หลายรายการในยุคนั้น และยังเป็นรถในตำนานในฝันของใครหลายๆ คน เรื่องดีไซน์เรียกได้ว่า Copy กันออกมาเลย เด่นสุดๆ ด้วย “อาร์มแขนเดี่ยว” Single-Sided SwingArm หรือในชื่อ Pro-Arm ที่ Honda ตั้งขึ้นมาและเป็นเอกสิทธิ์ของ Honda จนเป็นที่ติดหูติดปากหลายคนเรียก Pro-Arm กับรถทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่มีเทคโนโลยีนี้ จนถึงทุกวันนี้
เอกลักษณ์หนึ่งเดียวอีกอย่างคือเครื่องยนต์ที่เป็นแบบ V4 น่าจะเป็นรุ่นเดียวในพิกัด 400 ซีซี ที่ใช้เครื่องยนต์ลักษณะนี้ พร้อมกับเสียงของเครื่องยนต์อันเป็นเอกลักษณ์ ใส่ท่อแต่งยิ่งเฟี้ยว แต่บางครั้งผมก็นึกว่ารถสามล้อผ่านมานะ ฮ่าๆ
การดูปีก็ดูที่สีที่ลายเช่นเดียวกัน รวมถึงเลขเฟรหรือเลขคอของ NC30 ก็จะเป็น NC30-100xxxx, NC30-105xxx หรือ NC30-200xxx เป็นต้น ทีนี้รหัสอะไรปีไหนผมก็ลืมครับ ฮ่าๆ ใครจะซื้อในช่วงนี้ก็ลองศึกษาดูครับ
ด้วยเพราะได้แรงบันดานใจการออกแบบมาจากรถแข่ง NC30 จึงเป็นรถที่มีสมรรถนะสูงเกินตัว ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่าง เฟรม และเครื่องยนต์ เรียกได้ว่าลงตัวสุดๆ ในญี่ปุ่นเองก็ฮิตมากจนไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือเก๋าก็มักจะมี NC30 ไว้ฝนเข่าในสนามแข่ง หรือจะเรียกว่ารุ่นที่มือเก๋าสายเทโค้งเลือกใช้มากเป็นอันดับต้นๆ เลย ในไทยเองหลายคนก็เลือกใช้ NC30 ลงแข่งขันมากกว่า CBR400RR
ความต่างของลักษณะเครื่องยนต์ของ VFR400R และ CBR400RR ทำให้ทั้งคู่มีบุคลิกต่างกัน ในด้านการตอบสนองเครื่องยนต์ CBR400RR จะได้ในเรื่องความสมู้ท ความเร็วแรงในรอบต้นและกลาง ส่วน VFR400RR จะได้ในรอบกลางและปลาย แต่เอาเข้าจริงด้วยความเป็นรถขนาด 400 ซีซี ความเร็วปลายก็ไม่หนีกันมากนัก แต่มันต่างกันตรงการตอบสนองหรือฟีลลิ่ง
สเป็คเครื่องยนต์ของ VFR400R จะเป็นเครื่องยนต์ 4 จังหวะ V4 ทำมุม 90 องศา DOHC 16 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยน้ำ ให้กำลัง 59 แรงม้าที่ 12,500 รอบ/นาที ให้แรงบิด 39 นิวตันเมตรที่ 10,000 รอบ/นาที โดยเครื่องยนต์แบบ V4 เป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยเมื่อมาอยู่ในไทย จะมีปัญหาเรื่องความร้อน และระบบไฟ แผ่นชาร์จ ที่น่าปวดหัวกว่าทาง CBR400RR
ช่วงล่างก็ไม่เหมือนกันของ VFR400R มีความกระด้างและกระชับมากกว่า ดีเมื่อต้องขี่ในความเร็วสูงๆ หรือเอาไปบู๊ในสนามแข่งขัน โช้คอัพหลังเป็นโช้คแก๊สมีกระปุกแยกพร้อมตัวปรับได้ด้วย ส่วน CBR400RR จะมาในแบบอรรถประโยชน์ คือนิ่มกว่าอีกฝ่ายและใช้งานได้หลากหลายแบบสบายๆ
โช้คหน้าเป็นแบบเทเลสโคปิดขนาด 41 มม. ปรับ Spring Pre Load และ Rebound Damping โช้คหลังเดี่ยวปรับ Spring Pre Load ได้ มีกระปุกแก๊สแยกและเป็นรีโมทปรับ Rebound ไปในตัว
ดิสก์เบรกหน้าคู่ คาลิเปอร์ 4 ลูกสูบต่อข้างต่างจาก CBR400RR ที่มีข้างละ 2 ลูก ส่วนดิสก์เบรกหลัง 1 ลูกสูบเช่นเดียวกัน
ล้อแม็กหน้า 6 ก้าน ขนาด 3.5 x 17 นิ้ว ยางขนาด 120/60-17 ล้อแม็กหลัง 8 ก้าน Pro Arm แบบ Center Lock ขนาด 4.5 x 18 นิ้ว ยางขนาด 150/60-18 และที่ล้อหลังขนาด 18 นิ้วนี่เอง หลายคนมักจึงหาล้อของ Bros, MC28 หรือ NC35 ที่เป็นขนาด 17 นิ้วมาใส่แทนล้อเดิม
อีกอย่างคือท่านั่งของ VFR400R จะสปอร์ตกว่าทาง CBR400RR ด้วยเบาะนั่งที่สูงและไม่สบายนัก พักเท้าก็สูงกว่า แฮนด์ก้มต่ำ คือจัดท่าพร้อมหมอบ พร้อมให้ไปในโค้งได้เร็วกว่าใคร
ก็เป็นข้อมูลคร่าวๆ ของทั้ง 2 รุ่น ซึ่งรถที่มีอยู่ในไทย และมีทะเบียนถูกต้องจะเป็นรถที่นำเข้ามาเมื่อไม่น่าจะต่ำกว่า 25 ปีที่แล้ว นำเข้ามาเป็นก้อนๆ แล้วมาประกอบในไทย สมบูรณ์บ้างไม่สมบูรณ์บ้างคละกันไป การจะหาซื้อให้มีสภาพสมบูรณ์จึงยากมาก หลายคันผ่านช่วงเวลาการแต่งแบบเปลี่ยนแฟริ่ง จนไม่เหลือเค้าเดิมและปล่อย “เน่าอย่างสงบ” ไปอย่างน่าเสียดาย
รถที่ขายกันตามหน้าเพจ สภาพพอใช้ได้หลายๆ คันก็ไม่มีทะเบียน หรือเป็นทะเบียนสวม อันนี้ก็ต้องระวัง เรียกได้ว่าในยุคพ.ศ.นี้ ถ้าใจไม่รัก ไม่มีพักพวกที่เล่นอยู่ หรือเพิ่งเริ่มเล่น Bigbike หารถใหม่ป้ายแดงตามโชว์รูมง่ายกว่า
การแต่งก็นิยมจะเก็บให้เดิมที่สุดครับ โดยเฉพาะชุดสี แฟริ่ง ไปยันน็อตกันเลย แต่ถ้าลงของแต่ง ก็จะเน้นเป็นยี่ห้อจากญี่ปุ่นแท้ตรงรุ่น ตรงยุค เช่นท่อไอเสีย ชุดเกียร์โยง กันสะบัด ไม่เยอะแต่ดูดีและแพง และส่วนมากรถสภาพที่ว่าก็เป็นรถที่ “สายลึก” จะเก็บไม่ขาย
“เก๋าว่ะ” รอบหน้าผมจะนำรุ่นเด็ดๆ ในช่วงยุค 90 รุ่นไหนมาเล่าให้ฟัง ติดตามครับ จริงๆ มีเรื่องราวตอนไปญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้วค้างอยู่ด้วยนะ แต่ตัวรถที่เจอลึกและยากเกิ๊น บางคันก่อนผมจะเกิดอีก มีเวลาจะมาเหลาให้อ่าน คืองานนี้ผมต้องนั่งหาข้อมูลด้วย ต้องใช้เวลา ขอบคุณที่ติดตามครับ ชอบ ใช่ แชร์ได้เลยจ้า
รวมรถแข่งหายาก จากสนามแข่ง Suzuka ประเทศญี่ปุ่น คลิก
คลิปรีวิว ทดสอบ ท่องเที่ยว คลิก