BMW Motorrad Thailand จัดกิจกรรม BMW Motorrad Track Experience by California Superbike School เรียนขี่รถในสนามแข่งขันโดย California Superbike School สถาบันสอนขี่แข่งขันระดับโลก กับรถ 2020 BMW S1000RR ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต
California Superbike School สถาบันสอนขี่แข่งขัน มีสาขาอยู่หลายประเทศ และสร้างนักแข่งระดับแชมป์โลกมาแล้วหลายคน การมาสอนที่ประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ครั้งแรกเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วก็จัดโดย บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ประเทศไทย เช่นกัน
เกริ่นย้อนไปเพราะในครั้งแรกนั้นผมเองก็ได้รับเชิญจากทาง บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ประเทศไทย ในนามของนิตยสารโมโตครอส/Moto Bigbike ซึ่งผมยังเป็นนักทดสอบอยู่ที่นั่นในขณะนั้น การลงทะเบียนในปีแรกยังไม่มีการแบ่ง Level หรือระดับการเรียนการสอน คือเริ่มที่ Level 1 เหมือนกันทั้งหมด
ซึ่งทาง California Superbike School เขาจะมี Level หรือระดับการเรียนการสอนทั้งหมด 4 Level จากระดับเริ่มต้นไปถึงระดับแอดวานซ์ และเพื่อให้เหมาะหรือรองรับกับทักษะที่ต่างกันของแต่ละคน ในครั้งนี้การตอบตกลงทาง Email นั้นก็จะมีให้เราเลือก Level ระดับการเรียนเพิ่มขึ้นมาด้วย และผมก็ตอบตกลงที่จะเรียนใน Level 1 อีกครั้ง!??
แล้วทำไมผมถึงเรียนซ้ำ? เหตุผลที่ 1 คือ ตอนนี้ผมทำในนาม MotoMotion เว็บและสื่อของผมเอง จึงอยากเริ่มเล่าตั้งแต่เริ่มต้น อย่างที่ 2 คือผมเองก็อยากเรียนเบสิคอีกครั้ง เพราะผมก็ยังเชื่อว่าการขี่รถมอเตอร์ไซค์นั้นถ้ามีเบสิกที่ดีจะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีต่อไป รวมถึงเป็นระดับการเรียนที่เราต้องเอาชนะใจตัวเองมากที่สุดอีกด้วย
ไฮไลท์ที่สำคัญที่ต้องพูดถึงคือทาง บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ประเทศไทย ได้นำ 2020 BMW S1000RR โฉมล่าสุดมาให้ขี่เรียนกันกว่า 30 คัน และยังนำรถยนต์ BMW 530e มารับนักข่าวจากโรงแรมที่พักมายังสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต ต้องบอกเลยว่า Exclusive มากๆ
หลักสูตรสุดเข้ม เบสิกลึกสุดใจ
การเรียนการสอนของ California Superbike School เข้มข้นมาก หลักสูตรแน่นตลอดทั้งวัน และที่อยากจะบอกอีกอย่างคือหลักสูตรของเขาเป็นลิขสิทธิ์ที่เขาค่อนข้างจะซีเรียสมากๆ จะไม่ให้ใครก็ตามบันทึกเป็นคลิปวีดีโอเลย ผมซึ่งตั้งใจทำคลิปด้วยเลยทำได้ประมาณนึงก็ตามที่ได้ดูกันนั่นล่ะครับ ใครยังไม่ได้ดู ก็กด Link ด้านล่างสุดของบทความนี้ได้เลย
เริ่มกันตั้งแต่ 7 โมงเช้า บนห้องรับรองที่ชั้น 2 ของสนามช้าง จะเป็นการแนะนำตัวของทีมครูฝึก มีการแบ่งกลุ่ม แบ่งสี เรื่องตัวรถ New BMW S1000RR เรื่องกฎระเบียบในการเรียนทั้งหมด รวมถึงกฎระเบียบของการใช้สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซอสร์กิต จากนั้นก็ต้องรีบไปเปลี่ยนใส่ชุด Racing Suit กันเลย
หัวข้อการฝึก #1 การควบคุมคันเร่ง Throttle control
หลายคนมองการขี่มอเตอร์ไซค์“คันเร่ง” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมรถมอเตอร์ไซค์บ่อยที่สุด และเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ในการปรับปรุงการขี่ให้ดีขึ้น การเข้าโค้งให้นิ่งให้มั่นคงต้องใช้คันเร่งให้เป็น ต้องรู้ว่าจะใช้คันเร่งเมื่อไหร่ จะบิดมากน้อยตอนไหน หรือไม่บิดคันเร่งเลย ซึ่งการไม่บิดคันเร่งเลยรถจะอยู่ในสภาวะ “ไม่มั่นคง” มากที่สุดและจุดนั้นคือการเอียงรถเข้าโค้งได้ง่ายที่สุด และเมื่อเข้าโค้งไปแล้วก็ค่อยๆ บิดคันเร่งแบบค่อยๆ แต่รวดเร็วและมั่นคง
มีหลายคนมักทำคือเดี๋ยวบิดเดี๋ยวไม่บิดขณะอยู่ในโค้ง ซึ่งทุกคนเคยทำ และมันเป็นสิ่งที่ผิดหรือเรียกว่า Error Throttle Control แล้วทำไมถึงทำกันแบบนั้นล่ะ? เกิดจาก Entry Speed หรือความเร็วในการเริ่มต้นเข้าโค้งที่เร็วหรือช้าเกินไปนั่นเอง
และก็เกิดจาก “ความกลัว” หรือความกังวลที่มาจากสาเหตุ 5 อย่างคือ เข้าโค้งเร็วเกินไป ไม่แม่นไลน์ มุมเอียงของรถ พื้นผิวของแทร็ค และการยึดเกาะของรถ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคนและเกิดขึ้นได้ทุกสนาม ทุกโค้ง ทั่วโลก
ถ้าเรามีการควบคุมคันเร่งที่ดีก็จะกำจัดความกังวล 5 อย่างที่ว่ามาได้อย่างดี แต่ถ้าเราทำผิดมันก็จะแย่เรื่อยไปจนเป็นความเคยชิน นักบิดหลายคนที่ประเมินตรงจุดนี้ต่ำเกินไปและเข้าใจผิด การขี่มอเตอร์ไซค์จริงๆ แล้วมัน Simple มาก แต่มักจะไปมองหาเทคนิคที่มันซับซ้อนหรือที่มันดูเทพเข้ามาให้ดูเก่ง ทั้งที่เบสิกยังไม่ไปไหนเลย
คันเร่งและช่วงล่างสัมพันธ์กัน
การออกแบบเรื่องการกระจายน้ำหนักของตัวรถที่ลงในล้อหน้าและล้อหลัง การทำงานของโช้คอัพ มุม Rake มุม Trail ที่เปลี่ยนไปเมื่อโช้คอัพมีการยุบหรือยืดตัว ทั้งหมดเกี่ยวข้องกันอย่างมาก การบิดคันเร่งน้ำหนักจะลงที่ล้อหลัง การยกหรือปิดคันเร่งน้ำหนักจะลงที่ล้อหน้าหรือจะมีการยกตัวของทั้งโช้คหลังและโช้คหน้า เมื่อเราบิดๆ ยกๆ คันเร่ง โดยเหตุจากปัจจัยที่ว่ามาข้างต้น ความเสถียรหรือความมั่นคงของตัวรถก็หายไป มีผลกับความเร็วอย่างมาก
เช่นกันกับตอนจะเข้าโค้ง ถ้าใช้เบรกมากจนโช้คหน้ายุบสุดตัวและจะเอียงรถเข้าโค้งในขณะนั้นเลย รถจะเอียงยาก ขาดความเสถียร เพราะโช้คอัพไม่มีระยะการทำงาน แถมยังใช้คันเร่งไม่ได้ บางคนเอียงสุดแล้วยังเกี่ยวรั้งเบรกอยู่เลยเพราะมาเร็วเกินไป แต่ถ้ามีการควบคุมคันเร่งที่ดีจัดการทุกอย่างเสร็จก่อนเอียงรถ โช้คอัพมีระยะยุบตัวปกติ หรือตัวโช้คอยู่ในระยะที่ทำหน้าที่ได้ดีที่สุด รถจะเอียงเข้าโค้งได้ง่ายและเร็วกว่า ยิ่งเข้าเร็วก็จะยิ่งมีแรงกดไปที่โช้คอัพมากขึ้น นับรวมไปถึงการอยู่และออกจากโค้งด้วย
ดังนั้นถ้าการควบคุมคันเร่งของเรามันแย่ ช่วงล่างก็จะแย่ไปด้วย …ส่วนการใช้เบรก ก็ตามชื่อครับเบรกคือเบรก การใช้เบรกที่เยอะหรือใช้มากไปก็ไม่มีทางที่จะเข้าโค้งเร็วๆ ได้เลย ดังนั้นการควบคุมคันเร่งที่ดีเพิ่มและลดความเร็วที่แม่นยำและสม่ำเสมอ จะทำให้เราใช้เบรกได้ดีขึ้นด้วย เข้าโค้งได้เร็วและง่ายขึ้น
ผมเองพยายามจำที่โค้ชบอกหน้าห้องมาเล่าต่อกัน จริงแล้วมันเยอะกว่านี้นะ แต่ผม “ไม่เล่า” ฮ่าๆ มีโอกาสอยากให้มาเรียนเองครับ ซึ่งกิจกรรมดีๆ แบบนี่ BMW Motorrad Thailand น่าจะจัดให้อีกในปีต่อๆไป …และที่ผมเขียน(พิมพ์)ทั้งหมดรวมถึงที่ไม่ได้เขียนถึงในบทความด้านบนคือเบสิกที่มากกว่าการเรียนในหัวข้อที่ 1 เรื่อง Throttle control แต่มันจะต่อยอดบทเรียนทุกบทที่เราจะเรียนกันทั้งวัน
กลับมาในบทเรียนเรื่อง Throttle control มร.สตีฟ โค้ชผู้สอนให้เราทุกคนใช้เกียร์ 4 เกียร์เดียวขี่รอบสนามช้าง ห้ามเพิ่มหรือลดเกียร์ และที่สำคัญ “ห้ามเบรก” (ออกตัวเกียร์ 1 ได้นะ ฮ่าๆ) อย่าเพิ่งตกใจครับ สามารถทำได้ทุกคน เพราะการฝึกคือการควบคุมคันเร่ง คุณจะต้องใช้คันเร่งให้พอดี โฟกัสที่คันเร่ง จะขี่ได้ช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ทักษะที่ติดตัวมาของแต่ละคน และจะพัฒนาได้ด้วยการฝึกนี้ ที่สำคัญต้องไม่หลอกหรือโกงตัวเองครับ
ซึ่งถ้าเราใช้คันเร่งไม่ดี การใช้เบรกก็ไม่ดี เช่นกัน ชื่อก็บอกแล้วว่า Entry Speed คือมีความเร็วในการเข้าโค้ง ไม่ใช่ Brake เข้าโค้ง ในโค้งพยายามจำให้ได้ว่าเราต้องเริ่มบิดคันเร่งทีละน้อยและมากขึ้น มากขึ้น รถจะอยู่ในไลน์ จนถึงจุดออกจากโค้งก็จะเปิดคันเร่งจนหมดเองโดยอัตโนมัติและความเร็วจะมาเอง
2020 BMW S1000RR รถใช้ฝึก
เกริ่นถึง 2020 BMW S1000RR รถที่ใช้ฝึกกันหน่อย เป็นรถโฉมใหม่ที่นักเรียนทุกคนตื่นเต้น เพราะนี่น่าจะเป็นครั้งแรก และคนกลุ่มแรกในไทยที่ได้ขี่ 2020 BMW S1000RR ในสนามช้าง แต่!! เขาไม่ให้เราสนใจในตัวรถ ไม่มีการให้กดปรับหรือแนะนำอะไรเกี่ยวกับตัวรถ(มีบอกนิดหน่อยตอน Conference ช่วงเช้า) แม้แต่ตัวเลขบอกความเร็วบนเรือนไมล์ เขายังเอาเทปดำมาปิดไม่ให้เห็นความเร็วที่ใช้ หลักๆ ที่เราจะเห็นคือ ตำแหน่งเกียร์ วัดรอบ และโหมดที่ใช้ ซึ่งโหมดเขาก็ไม่ได้ให้เราเล่นอะไรนะ จุดประสงค์ทั้งหมดคือให้เราโฟกัสและทำตามหลักสูตรที่เรียนอย่างเดียวเท่านั้น
โค้ช 1 คน : นักเรียน 2 คน รองรับทุกระดับ Level ฝีมือ
การเรียนภาคสนามจะมีโค้ชคอยตามขี่ประกบ โดยโค้ช 1 คนต่อนักเรียน 2 คน และจะมีล่ามคอยประกบเท่าจำนวนโค้ช คือทั่วถึง เหลือๆ และไม่ต้องกังวลเรื่องการสื่อสาร อยากถามเรื่องการขี่ได้ทั้งหมดตลอดทั้งวัน
การฝึกอย่างที่บอกไปแล้วว่าจะใช้เกียร์ 4 เกียร์เดียวและไม่ใช้เบรก โค้ชจะเข้าประกบตั้งแต่ก่อนจะออกตัวไป และให้บอกทบทวนว่าเราจะออกไปทำอะไรกันก่อนจะออกตัวไป โค้ชจะขี่ตามดูเราขี่และจะขึ้นนำ พอถึงโค้งตั้งแต่เริ่มจะเข้า โค้ชจะทำสัญญาณมือตั้งฉากขึ้นคือจุดปิดคันเร่ง และค่อยๆ วาดแขนออกจนแขนตรง นั่นคือการเริ่มเปิดคันเร่งและค่อยๆ เดินคันเร่งจนสุด
การควบคุมคันเร่ง การโฟกัสการใช้คันเร่งทั้งปิดและเปิดที่ถูกจุดตั้งแต่จะเข้าโค้งจนออกโค้ง การใช้เกียร์ 4 เกียร์เดียวรอบสนามช้างและห้ามใช้เบรกนั้น เราจะได้อะไรและจะเจออะไร??
อันนี้จากตัวผมเองเลย คือเราจะรู้ว่าเรากลัวคันเร่งกว่าที่คิด ผมบอกเลยว่าถ้าคุณกดเกียร์ 4 เต็มคันเร่งในทางตรงยาวของสนามช้างเพื่อให้คุณเร็ว แต่โค้ง 3 คุณจะต้องเข้าโค้ง โดยห้ามเชนเกียร์ ห้ามเบรก แน่นอนถ้าคุณยังทำแบบที่คุณเคยๆ คุณไม่มีทางเข้าโค้งได้เลย “ทะลุ” ฮะ บอกเลย
ดังนั้นคุณต้องคำนวณคันเร่งตัวเองว่าจะใช้ขนาดไหน เนื้อแท้คุณจะออกมาแล้วล่ะทีนี้ คุณจะยัดมาเต็มคันเร่งก็จริง แต่จะยกตั้งแต่ไกล ถึงไกลมาก แล้วปล่อยไหลมาเพื่อเข้าโค้ง ซึ่งบางทียังเร็วไป(ในความรู้สึกของคุณ) คุณก็ต้องเบรก!! นั่นคือจุดผิดพลาดไง ทั้งที่จริงๆ แล้วความเร็วตรงนั้นกับบางคนคือไม่ได้เร็วเลย นั้นเพราะทุกคนจะมีกำแพงความกลัวไม่เท่ากัน และร่างกายจะมี Survivor Reacting คือระบบเอาตัวรอดอัตโนมัติ รวมถึงความเคยชินที่ใช้เบรกได้ และความไม่เนียนในคันเร่งที่ติดตัวคุณมา นั่นเอง ทีนี้พอคุณฝึกตรงนี้คุณจะรู้จักคันเร่งมากขึ้น จะไหลพับเข้าโค้งได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นผล และมันจะต่อยอดกับหลักสูตรต่อไปจากนี้ด้วย
กิจกรรมหลังจากขี่ในสนามเสร็จในทุกๆ หัวข้อเรียน
เล่าก่อนเลยว่ากิจกรรมหลังจากขี่เสร็จในทุกๆ Session หรือทุกๆ หัวข้อการฝึก จะมีการมานั่งคุยกันในพิท มานั่งฟังโค้ชคอมเม้นท์ ช่วยแก้ข้อผิดพลาดในทุดโค้ง คือเปิดแปลนสนามมาคุยกันเลย และถามกันได้แบบตัวต่อตัว โดยจะมีล่ามเจ้าประกบคอยช่วยเหลือเรื่องภาษา ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก็ขึ้นไปเรียนภาคทฤษฎีต่อบนห้องแอร์ชั้น 2 ของสนามช้างต่ออีกประมาณ 15-20 นาที บอกเลยว่าตลอดทั้งวันไม่ต้องถอดเรซซิ่งสูทกันเลยล่ะ แม้แต่ตอนพักกินข้าว!!
ฝึกสายตา ฝึก Counter Steering ลานหน้าสนามช้าง
นอกจากการเรียนทฤษฎี เรียนปฏิบัติในสนามช้างแล้ว ยังมีฐานที่ใช้เรียนใช้ฝึกการใช้สายตา การฝึกท่าขี่ตอนเลี้ยว การฝึกการใช้เทคนิค Counter Steering ที่ลานนอกสนามช้างด้วยนะ เรียนทีละคน โดยจะให้ขี่เกียร์ 2 เกียร์เดียวไม่ต้องใช้เบรก ให้ใช้คันเร่งที่คงที่สม่ำเสมอ และขับเลี้ยวแบบสลับฟันปลาไปกลับ แล้วโค้ชจะดูพร้อมบอกข้อผิดพลาด บอกเทคนิคที่ต้องทำ เพื่อให้เราแก้ไขตัวเองและทำให้ถูกต้องเป็นอันจบ ฐานเรียนนี้ต้องเข้าทุกคนนะมีการเช็คชื่อด้วย ให้สลับกันออกมาเรียนตั้งแต่หลังหัวข้อเรียนที่ 1 ไปตลอดทั้งวัน
หัวข้อการฝึก #2 จุดเลี้ยว Turn Point
หลังจากที่ผมได้เขียนปูทางไว้ยาวๆ แล้ว ต่อจากนี้คือการต่อยอด ไม่ยาวๆ เสพต่อได้เลย
เข้าเรื่อง!! ทุกโค้งจะมีจุดเลี้ยวของตัวเอง เพราะแต่ละโค้งไม่เหมือนกัน แต่ที่สำคัญไม่มีจุดเลี้ยวไหนสมบูรณ์แบบและตอบโจทย์ความต้องการของนักขี่ทุกคน อันนี้มีตัวอย่างในรายการแข่ง MotoGP ที่บางคนเข้าจุดเลี้ยวที่ลึกและเร็วแล้ว แล้วถูกแซงกลางโค้งก็มีให้เห็นบ่อยๆ แต่ๆ ครั้งนี้ไม่ใช่ว่าคุณจะเลี้ยวได้แบบนักแข่ง MotoGP นะ แค่ยกเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น
การฝึกในหัวข้อนี้ จะมีการมาร์คจุดเลี้ยวในทุกโค้งของสนามช้างให้ เป็นเทปแปะเป็นกากบาทให้สังเกตบนพื้นแทร็คเลย เป็นจุดเลี้ยวที่ดีเป็นพื้นฐานตามลักษณะของแต่ละโค้ง แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นจุดเลี้ยวที่ดีที่สุด การมีจุดเลี้ยวที่ดีจะส่งไปในไลน์ที่ดีด้วย และแต่ละคนอาจจะพบจุดเลี้ยวที่เหมาะกับตัวเองก็ได้นะ
ที่เพิ่มขึ้นมาคือให้ใช้เกียร์ 3 และเกียร์ 4 แต่ห้ามใช้เบรกเหมือนเดิม ครูฝึกจะขี่ตามประกบในลักษณะเดิม เราจะสามารถใช้ความเร็วได้มากขึ้นแต่ก็ยังต้องโฟกัสที่การใช้คันเร่งอยู่เช่นเดิม แม้จะมีเกียร์ 3 เพิ่มมาให้ได้ใช้ Engine Brake ได้บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ให้เบรกอยู่ดี ถ้าชะล่าใจยังไงก็เหวอเชื่อสิ
ให้โฟกัสที่จุดเลี้ยว เมื่อไหลมาถึงจุดที่มาร์คไว้ให้พับรถเข้าโค้งทันที จุดเลี้ยวที่ดีจะนำไปสู่ไลน์วิ่งที่เป็นเส้นตรงมากที่สุด ต้องบังคับทิศทางที่จะไปในครั้งเดียว และต้องมีคันเร่งที่ดี พูดเหมือนง่าย แต่จะให้เร็วนั้นยาก
หัวข้อการฝึก #3 การเลี้ยวแบบเร็ว Quick Turn
หัวข้อนี้ก็จะอัพสกิลต่อยอดกันกันอีกนิด การเลี้ยวแบบเร็วนอกจากจะมีท่าทางเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น คือการเข้าโค้งให้เร็วจะอยู่ที่ร่างกายท่าทางคือถ้าร่างกายและท่าเราได้ เราจะขยับจุด Turn Point ที่โค้ชมาร์คได้ลึกเข้าไปอีกและจะเข้าไวขึ้น และที่สำคัญคือการใช้เทคนิค Counter Steering ที่เราได้ออกไปเรียนพื้นฐานกันมาแล้ว
พื้นฐานการควบคุมรถตอนนี้จะมีสองอย่างคือการเปลี่ยนความเร็วและการเปลี่ยนทิศทาง การพัฒนาความคล่องแคล่วและความสามารถในการเปลี่ยนทิศทางรถ แม้จะเล็กน้อยแต่ก็สามารถส่งผลในภาพรวมได้มาก
ในหัวข้อนี้โค้ชจะให้เราใช้เกียร์ 3 และเกียร์ 4 พร้อมกับให้ใช้เบรกได้นิดหน่อย ห้ามโกงนะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อเรานำทักษะการเรียนในหัวข้อที่ 1 และ 2 มาต่อยอด ควบคู่การทำ Counter Steering จะทำให้เราเลี้ยวได้เร็วขึ้นและสามารถเขยิบจุดเลี้ยวให้แคบและลึกขึ้นได้จริง โดยที่การใช้คันเร่งยังไม่สะดุดอีกด้วย แต่จริงๆแล้ว การทำ Counter Steering หลายคนจะทำเป็นกันโดยอัตโนมัติอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว
หัวข้อการฝึก #4 การควบคุมโดยตัวผู้ขี่เอง Rider Input
การควบคุมรถให้เป็นไปตามต้องการนั้น ขึ้นอยู่กับเทคนิคการขับขี่หรือตัวบุคคลเป็นหลัก รถมอเตอร์ไซค์ที่ผลิตออกมามีความ Stable หรือมีความมั่นคงมีบาลานซ์ที่ดีในตัวเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะ S1000RR ที่เราขี่เรียน มีช่วงล่างที่ดีมากๆ พอมีคนขึ้นไปขับขี่ ความ Stable ของรถก็จะหายไป การจะ Stable และไปในทิศทางที่ต้องการก็จะอยู่ที่ตัวคนขี่
ยกตัวอย่างง่าย หลายคนอาจจะเคยเห็นรถแข่งที่เกิดการเสียหลักไฮไซด์สะบัดคนหลุดตกรถไป แต่หลังจากนั้นรถก็จะวิ่งต่อไปเองตรงๆ โดยไม่มีคนขี่ นั่นล่ะครับความ Stable ที่รถทุกคันมี แล้วที่เสียหลักไฮไซด์เกิดเพราะการควบคุมของคนขี่เองนั่นแหล่ะ
การควบคุมรถที่ดีให้อยู่ในลักษณะผ่อนคลาย Relax ให้รถทำหน้าที่หรือคงความ Stable ไป การรักษาความ Stable ของรถสังเกตได้อีกอย่างคือเมื่อ เรากดคันเร่งออกจากโค้งแรงๆ หน้ารถจะมีการส่ายซ้ายขวาเล็กน้อย นั่นคืออาการที่รถกำลังรักษา Stable ของตัวเอง สังเกตได้ชัดจากรถแข่ง MotoGP จากมุมกล้องที่เห็นแผงคอ คอจะส่ายเล็กน้อยในทุกครั้งที่พุ่งออกจากโค้งแรงๆ เราก็ทำแค่ประคองแฮนด์ไปจนนิ่งปกติ แต่ถ้าขึ้นหน้ารถส่ายคนขี่ดันหรือเกร็งรั้งสู้ไปมาก็จะ “บึ้ม” ได้ง่ายๆ เลย
ในหัวข้อนี้เราจะปรับท่าขี่ ฝึกการคอนโทรลให้ Relax ผ่อนคลาย ไม่เกร็ง โดยเฉพาะในโค้ง ใช้ขาในการควบคุมรถ มากกว่าที่จะใช้แขน แขนควรจะเป็นอิสระไม่เกร็ง การขี่ในรอบนี้จะใช้เกียร์ 3 ,4 และ 5 ได้ รวมถึงใช้เบรกได้เล็กน้อยเช่นเดิม โค้ชจะเน้นให้เราผ่อนคลาย
โดยจะขี่นำให้เราดู เวลาอยู่ในโค้งโค้ชจะกระพือแขนทั้ง 2 ข้าง คือทำท่าตีปีกอ่ะนะ ไปตลอดโค้ง ให้ดูว่าต้องผ่อนคลายแขน แค่ประคองรถเท่านั้น และใช่ครับให้เราทำตาม แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ทักษะของแต่ละคนที่ติดตัวมา ไม่ใช่บังคับให้ทำทุกคน ของอย่างนี้อยู่ที่การฝีกและฝึกครับ
หัวข้อการฝึก #5 การเข้าโค้งสองจังหวะ Two Step Turning
เป็นหัวข้อสุดท้ายของ Level 1 นี้แล้วครับ ยาวเหลือเกิน ผมเนี่ยเขียนยาวเหลือเกิน ในหัวข้อนี้ที่ชื่อว่า “เข้าโค้งสองจังหวะ” หลักๆ คือการใช้สายตาครับ รวมถึงบางโค้งนั้นคือโค้งที่ไม่จบใน Apex เดียว ถ้ามี 2 Apex ล่ะ? ต้องอ่านไลน์โค้งให้ขาด นั่นคือหัวข้อที่เรียนนี่ล่ะครับ แต่จะเน้นการใช้สายตา จุดที่ควรมอง มองข้ามจุดไปไกลกว่าเดิม
การฝึกในรอบนี้จะให้ใช้เกียร์ใช้เบรกได้เต็มที่ เอาทักษะที่ได้จากเรียนออกมาใช้ให้เต็มที่ และด้วยที่เป็น Session สุดท้าย หลายคนก็รอจะปล่อยพลัง… แต่!! หลังจากขี่กันมาทั้งวันหลายคนหมดแรง ก็อยากให้ประเมินตนเองไปด้วย ให้คิดถึงเรื่องความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก
สรุปเลย
ผมเองมีทักษะการขี่อยู่ในระดับแข่งขัน ขี่ทดสอบรถมาแล้วเกือบทุกรุ่น อันนี้ไม่ต้องถ่อมตัวหรือไม่ต้องหลอกหรือโกหกตัวเองก่อนเลย ที่จะบอกคือการทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว รับการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้เสมอ มันจะช่วยให้เราพัฒนา หรือเข้ามาแก้ไขจุดเสียที่เราไม่เคยรู้ จุดเสียที่เราทำจนกลายเป็นความเคยชิน ไร้การพัฒนาได้อย่างดี และ Level 1 ที่เป็นเบสิกนั้นก็ยังสำคัญให้เราได้ทบทวนแก้ไขในสิ่งที่มันผิดได้ดี รวมถึงต้องไม่โกงตัวเองในระหว่างฝึก
ที่ผมเขียนมายาวนานเพราะอยากถ่ายทอดให้ได้เยอะที่สุด ให้เห็นภาพ แต่มันก็ไม่เท่าเข้าเรียนด้วยตัวเองกับโค้ชระดับโลกอย่างเทียบไม่ติด และการเรียนทั้งหมดในวันเดียวก็ไม่ได้หมายความว่าจะเก่งจะไปเป็นนักแข่งได้เลย ไม่ใช่เลยครับ แต่เป็นเบสิกที่ถูกต้องที่ควรไปฝึกฝนกันต่อซ้ำๆ รวมถึงถ้ามีโอกาสก็ควรเรียนต่อใน Level 2
กิจกรรมสุด Exclusive ที่ BMW Motorrad Thailand จัดให้ ถ้ามีในครั้งต่อไป ผมจึงไม่อยากให้ใครที่สนใจพลาดโอกาส กับค่าใช้จ่ายหมื่นกลางๆ ถือว่าคุ้มค่ามากๆ ครับ
Special Thank : บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ประเทศไทย
: ชุดขับขี่ REV’IT! จาก PANDA RIDER
: รูปถ่ายจาก Superbike Magazine
คลิป เรียน California Superbike School คลิก
ทดสอบ ขี่ BMW C400X ออกทริป คลิก
ทดสอบ 2019 BMW R1250GSA คลิก
ทดสอบ 2018 BMW F850GS / F750GS คลิก
คลิปทดสอบ BMW R1250GSA คลิก
คลิปทดสอบ BMW C400X คลิก